ก่อนหน้า2/8ถัดไป
บทที่3 เรื่องพัฒนาการของมนุษย์

ทฤษฎีพัฒนาการTheories of Development
การศึกษาทำความเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์ได้อย่างชัดเจนนั้น ผู้ศึกษาควรมีความรู้ในเรื่องของแนวคิดทฤษฎีพัฒนาการขั้นพื้นฐานเสียก่อน ซึ่งทฤษฎีที่สำคัญ ได้แก่
1. พัฒนาการความต้องการทางเพศและบุคลิกภาพของฟรอยด์ (Freud’s Psychosexual and Personality Development)
2. ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของอีริกสัน (Erikson’s Psychosocial Theory)
3. ทฤษฎีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของเพียเจต์ (Piaget’s Cognitive Develpoment Theory)
4. ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคห์ลเบิร์ก (Kohlberg’s Moral Development)
พัฒนาการความต้องการทางเพศและบุคลิกภาพของฟรอยด์ (Freud’s Psychosexual and Personality Development)
ซิกมันด์ฟรอยด์(SimundFreud)ผู้นำกลุ่มจิตวิเคราะห์ได้เสนอแนวคิดทฤษฎีทางพัฒนาการไว้ว่าพัฒนาการความต้องการทางเพศและบุคลิกภาพของบุคคล ต้องอาศัยการพัฒนาที่ต่อเนื่องอย่างเป็นลำดับขั้นจนกลายเป็นบุคลิกภาพที่ถาวรในที่สุด ซึ่ง ฟรอยด์ได้ให้ความสำคัญกับ ช่วงระยะวิกฤติ (Crisis Period) นั่นคือช่วงระยะแรกเกิดถึงห้าปี ด้วยเหตุที่ว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมความต้องการในการแสวงหาความสุขและความพึงพอใจ (Pleasure Principle) ให้กับตนเอง ฟรอยด์ได้เสนอแนวคิดว่าคนเราจะมีบริเวณที่ต้องการให้สนองตอบที่เรียกว่า อีโรจีเนียส (Erogenous zone) ซึ่งบริเวณที่ว่านี้จะเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของอายุ ถ้าบริเวณอีโรจีเนียสไปหยุดอยู่ตรงที่ใดแล้ว ไม่ได้รับการสนองตอบที่พึงพอใจ จะเกิดการติดตรึงหรือชะงักงัน (Fixation) ซึ่งทำให้มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลผู้นั้นไปตามบริเวณที่เกิดการติดตรึง

ซึ่งฟรอยด์ได้กำหนดบริเวณที่อีโรจีเนียสเคลื่อนที่ไปตามอายุไว้ 5 ระยะ ดังนี้
1) ระยะปาก (Oral Stage)
มีช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี เป็นระยะที่ปากไวต่อการตอบสนองความสุขนั่นคือบริเวณอีโรจีเนียสอยู่ที่ปากเด็กจึงใช้ปากเพื่อสร้างความพึงพอใจ เช่น กัด ดูด อม ทำเสียงต่าง ๆ หากเด็กถูกขัดขวางในการตอบสนองด้วยปาก เช่น การถูกบังคับให้หย่านมเร็วเกินไป หรือต้องร้องเป็นระยะเวลานานจึงจะได้ดูดนม เป็นต้น จะทำให้เกิดการติดตรึงกับระยะปาก ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมชดเชยให้กับตนเองเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เช่น ติดบุหรี่ การพูดมาก ชอบนินทา รับประทานของจุบจิบ กัดเล็บ เป็นต้น
2) ระยะทวาร (Anal Stage)
มีช่วงอายุตั้งแต่ 2-3 ปี เป็นระยะที่บริเวณอีโรจีเนียสย้ายไปอยู่บริเวณช่องทวารเด็กจึงมีความพึงพอใจในการขับถ่าย การฝึกฝนการขับถ่ายควรเป็นไปด้วยความอ่อนโยน ค่อยเป็นค่อยไป อย่าใช้วิธีการข่มขู่ บังคับ หรือลงโทษเพื่อให้ขับถ่ายตรงเวลา มิฉะนั้นจะเกิดการติดตรึงจนส่งผลถึงบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น เช่น ชอบสะสมของ ตระหนี่ หวงของ ชอบนั่งติดอยู่กับที่เป็นระยะเวลานาน ๆ เจ้าระเบียบ ย้ำคิดย้ำทำเรื่องความสะอาด ต่อต้านระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่ยอมใคร เป็นต้น
3) ระยะอวัยวะเพศ (Phallic Stage)
อยู่ในช่วงอายุ 3-5 ปี เป็นระยะที่ฟรอยด์ให้ความสำคัญมากที่สุดในระยะนี้ช่วงบริเวณอีโรจีเนียสย้ายบริเวณมาอยู่ที่อวัยวะเพศ ดังนั้นเด็กจึงพึงพอใจที่จะสัมผัสอวัยวะเพศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการซักถามและให้ความสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศ หากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจและดุด่าว่ากล่าวเด็ก รวมทั้งขมขู่จนทำให้เด็กเกิดความกลัวจนถึงขั้นติดตรึงในระยะนี้ จะทำให้เด็กเกิดความแปรปรวนทางเพศในวัยผู้ใหญ่ได้
4) ระยะสงบ หรือระยะแฝง (Latency Stage)
อยู่ช่วงอายุระหว่าง 6-12 ปี ระยะนี้เด็กจะได้รับอิทธิพลทางสังคมและพัฒนาการทางสติปัญญาเป็นระยะของการหาบทบาทที่เหมาะสมให้กับตนเอง เด็กจะสนใจสิ่งแวดล้อมทางสังคมและบทบาททางเพศของตนเองแต่สามารถสะกดกลั้นความต้องการทางเพศที่เกิดขึ้นไว้ภายในจิตใต้สำนึก โดยเบนความสนใจไปเรื่องอื่น เช่น การเล่นกีฬา การอยู่กลุ่มเดียวกับเพื่อนเพศเดียวกัน เป็นต้น
5) ระยะสนใจเพศตรงข้าม หรือระยะวันรุ่น (Genital Stage)
อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยในระยะนี้ความต้องการทางเพศที่ถูกเก็บกดไว้ในจิตใต้สำนึกจะปรากฏขึ้นอีกครั้ง หากเด็กสามารถผ่านระยะอวัยวะเพศได้อย่างราบรื่น เด็กจะแสดงบทบาทความเป็นเพศที่ตรงกับเพศของตนเอง (Heterosexual) ได้อย่างเหมาะสม ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่ในเวลาต่อไป

 

website templates.