ก่อนหน้า 3/3 ถัดไป
บทที่4 เรื่อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์: ทั่วไป

บุคคลสิทธิและทรัพยสิทธิ
บุคคลสิทธิ หมายถึงสิทธิที่มีอยู่เหนือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีเป็นสิทธิที่ใช้บังคับเอากับตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีให้กระทำการ งดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินให้
ทรัพยสิทธิ หมายถึง สิทธิของบุคคลที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน

ข้อแตกต่างระหว่างบุคคลสิทธิและทรัพยสิทธิ
1. บุคคลสิทธิใช้ต่อสู้ได้กับบุคคลที่เป็นคู่กรณีเท่านั้น ส่วนทรัพยสิทธิใช้ต่อสู้ได้กับบุคคลทั่วไป
2. บุคคลสิทธิก่อให้เกิดหน้าที่แก่คู่กรณีในการที่ต้องกระทำการงดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สิน ส่วนทรัพยสิทธินั้นจะก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไปที่จะต้องงดเว้น ไม่รบกวน ทรัพยสิทธินั้น
3. บุคคลสิทธิมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำ การงดเว้นการกระทำหรือส่งมอบทรัพย์สิน ส่วนทรัพยสิทธิมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน
4. บุคคลสิทธิเกิดขึ้นได้โดยกฎหมายกำหนดเอาไว้ เช่น การทำละเมิดหรือเกิดโดยสัญญาก็ได้ แต่ทรัพยสิทธิจะเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น
5. บุคคลสิทธิมีอายุความ ถ้าไม่ใช้ภายในกำหนดบุคคลสิทธิอาจจะระงับสิ้นไปได้ แต่ทรัพยสิทธิไม่อาจสิ้นสุดไปด้วยการไม่ใช้ยกเว้นจะถูกครอบครองปรปักษ์เท่านั้น

หลักเกณฑ์แห่งการครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์
1. ครอบครองหมายถึง กิริยาเข้ายึดถือทรัพย์สิน เช่น เข้าทำประโยชน์ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ในเรือกสวนไร่นาถือว่าได้ครอบครองเรือสวนไร่นานั้นเป็นต้น
2. ทรัพย์สินของผู้อื่น หมายถึง ทรัพย์สินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์อยู่ในกรณีที่ดินจะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดหรือตราจองเท่านั้น
3. โดยสงบ คือ การครอบครองโดยปราศจากการข่มขู่ การใช้กำลัง การหลอกลวงและไม่มีใครมาหวงห้าม กีดกัน แสดงความเป็นเจ้าของ หรือฟ้องร้องขับไล่
4. โดยเปิดเผย คือ การครอบครองโดยมิได้หลบซ่อนเร้น ปิดบังหรืออำพรางใด ๆ
หลักเกณฑ์แห่งการครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ (ต่อ)
เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ไม่ใช่การครอบครองแทนผู้อื่น เช่น คนสวนเฝ้าสวนแทนเจ้าของสวนหรือครอบครองตามสัญญาให้อำนาจไว้ เช่นการครอบครองที่นาทำนาตามสัญญาเช่านา เป็นต้น

มาตราที่น่าสนใจ

มาตรา 15 สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้ว อยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดเมื่อตาย
ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก
มาตรา 16 การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใด แต่ไม่รู้วันเกิดให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใดให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด
มาตรา 19 บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์
มาตรา 20 ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448
มาตรา 21 ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็น โมฆียะ
มาตรา 22 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง
มาตรา 23 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว
มาตรา 24 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร

มาตรา 25 ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์

มาตรา 29 การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ
มาตรา 39 ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฎ ให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา
มาตรา 44 ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ได้แก่ ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง

website templates.