ก่อนหน้า3/6ถัดไป
บทที่6 เรื่องการจูงใจ

แรงจูงใจทางสังคม (social Motive or Secondary needs)
แรงจูงใจทางสังคม เป็นแรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในภายหลัง กล่าวคือ ในขั้นแรกทารกจะยังไม่มีความต้องการทางสังคม แต่เมื่อประสบการณ์มากขึ้นจึงจะเกิดแรงจูงใจทางสังคมขึ้น นับเป็นแรงขับที่สลับซับซ้อน แรงจูงใจทางสังคมอาจแบ่งได้หลายประเภท นักจิตวิทยาแบ่งไว้ไม่เหมือนกัน นักจิตวิทยาบางท่านแบ่งไว้เป็น 6 ประเภท
ก. แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (Achievement Motive)
ข. แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ (Affiliation Motive)
ค. แรงจูงใจในการให้สังคมยอมรับ (Social Approval Motive)
ง. แรงจูงใจในตำแหน่งฐานะ (Status Motive)
จ. แรงจูงใจในความปลอดภัย (Security Motive)
ฉ. แรงจูงใจในค่านิยมของสังคม (Social Value Motive)
แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ (Achievement Motive)

แรงจูงใจนี้คือ แรงจูงใจที่จะทำอะไรขึ้นมาให้ได้ หรือได้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนทำ หลีกเลี่ยงความล้มเหลว ในบางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เจริญแล้ว บุคคลจะได้รับการสั่งสอนให้พยายามประสบความสำเร็จไม่ในสิ่งใดก็สิ่งหนึ่ง อาจจะเป็นการหาเงินให้ได้มาก ทำงานที่ใช้ความรู้สูง ๆ เป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียง โดยผู้นั้นจะต้องทำงานหนักและอุตสาหะที่จะให้ได้สิ่งนั้นมา ความสำเร็จนับว่าเป็นรางวัลอันสูง พ่อแม่สนับสนุนให้ลูกทำคะแนนดี ๆ ในโรงเรียนแล้วก็เข้ามหาวิทยาลัย และในที่สุดจะได้สามารถอยู่ในวงงานธุรกิจหรือวิชาชีพชั้นสูง แต่ก็มิได้หมายความว่าจะต้องเป็นเช่นนี้ไปทุกวัฒนธรรม
ความรุนแรงของแรงจูงใจที่จะทำอะไรได้สำเร็จนี้ มีส่วนคล้ายกับแรงจูงใจทุติยภูมิอื่น ๆ ตรงที่แต่ละบุคคลมีต่างกันมาก ในบางคนแรงจูงใจที่จะให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนทำมีความรุนแรงมาก ซึ่งเรียกว่ามี ระดับปณิธาน (Level of Aspiration) สูง ขณะที่บางคนอาจจะเรียกได้ว่าต่ำมาก แต่อย่างไรเราก็กล่าวได้ว่าทุกคนมีแรงจูงใจนี้อยู่ระดับหนึ่ง
แรงจูงใจนี้จะรุนแรงเพียงไรนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นได้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วแค่ไหน โดยปกติคนจะไม่ทะเยอทะยานที่จะประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬา นักวิชาการ หรือนักดนตรี เว้นไว้เสียแต่ว่า เขาได้เคยประสบความสำเร็จในเรื่องนั้น ๆ มาบ้างแล้ว ถ้าเขาได้เคยประสบความสำเร็จมาบ้างพอประมาณ จุดมุ่งหมายของเขาก็จะไม่สูงเท่ากับคนที่ได้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างดีเด่น
แต่บางครั้งเราจะได้พบคนไม่น้อยที่มีระดับปณิธานแตกต่างจากระดับของความสามารถ (Level of performance) มาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเคยเรียนรู้ที่จะตั้งจุดมุ่งหมายไว้สูง เพื่อจะได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่และคนข้างเคียง หรือบางคนที่ปล่อยให้ระดับปณิธานต่ำกว่าวิสัยความสามารถที่จะทำได้ อาจเป็นเพราะบุคคลนั้นได้เรียนรู้ที่จะกลัวความผิดหวัง จนไม่กล้าตั้งจุดมุ่งหมายไว้ให้สูง เพราะกลัวจะไม่ประสบความสำเร็จ
ขณะนี้มีผู้ศึกษาถึงแรงจูงใจที่จะได้ประสบความสำเร็จโดยละเอียด เขาสามารถที่จะวัดได้ถึงแรงจูงใจนี้ และบอกได้ถึงความแตกต่างระหว่างคนที่มีแรงจูงใจที่จะได้ประสบความสำเร็จอย่างมากกับคนที่มีแรงจูงใจนี้น้อยมาก เขาพบว่าจุดเริ่มต้นของแรงจูงใจมาจากการฝึกอบรมที่เด็กได้รับตั้งแต่เด็ก คนที่มีแรงจูงใจในเรื่องนี้สูงโดยทั่วไปมักจะเป็นคนที่ถูกเลี้ยงมาในบ้านที่เน้นถึงความสำคัญของความพึ่งพิงพ่อแม่ มักจะเป็นคนที่ช่วยให้เด็กแก้ปัญหาของตนได้ตั้งแต่เด็ก ๆ
แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ (Affiliation Motive)
ชิฟเลย์ และเวอรอฟฟ์ (Shipley & Veroff, 1952) กำหนดเกณฑ์ของผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ไว้ว่า จะต้องมีความรู้สึกที่ฝังลึกในจิตใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
1. ความรู้สึกเกี่ยวกับการไม่ยอมรับ (Rejuction) เช่น ความรู้สึกเกรงว่าจะไม่มีผู้อยากคบค้าสมาคม หรือเกรงกลัวการถูกทอดทิ้ง
2. ความรู้สึกเกี่ยวกับความโดดเดี่ยว (Loneliness) เช่น ความรู้สึกว่าตนขาดเพื่อน หรือขาดความสัมพันธ์กับผู้อื่น
3. ความรู้สึกเกี่ยวกับการพลัดพราก (Physical Departure) เป็นความรู้สึกด้านนิเสธต่อการตายจาก ความห่างไกลจากผู้ที่ตนรัก
4. ความรู้สึกด้านนิเสธต่อการแตกแยกทางจิตใจ (Psychic Separation) เช่น การทะลาวิวาท การรบราฆ่าฟัน หรือการไม่ลงรอยกัน
5. ความรู้สึกเกี่ยวกับการไม่ได้ความรักตอบแทน (No receprocal Love) เช่น รู้สึกว่าเรารักเขาข้างเดียว เป็นต้น
6. ความรู้สึกเกี่ยวกับความต้องการชดเชย (Preparation) เช่น มีความรู้สึกเดียวดาย หรือเสียใจหลังจากได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงไป จึงคิดหาวิธีการที่จะแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจะรักษาไว้ซึ่งมิตรภาพอันดี
ผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์สูงนั้น จะเป็นบุคคลที่ขอบคลุกคลีอยู่กับงานที่เป็นกลุ่ม หรือเป็นทีม จะพยายามเข้าใจและเห็นใจกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน จะไม่ทอดทิ้งเพื่อเอาตัวรอดเมื่อเผชิญกับอุปสรรค หรือความยากลำบาก เมอร์เรย์ ( Murray , 1965) สรุปลักษณะพฤติกรรมของผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ ไว้ว่า
1. มีความคงเส้นคงวาในพฤติกรรมด้านความสัมพันธ์นั้น ๆ
2. ปฏิบัติต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ
3. พฤติกรรมต่าง ๆ จะตั้งอยู่บนความพยายามที่จะรักษาไว้ซึ่งมิตรภาพและไมตรี
ทั้งแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ดังที่กล่าวมานี้จะมีอยู่ในบุคลิกภาพควบคู่กันตลอดเวลา ซึ่ง โกรส์เบค (Groesbeck, 1066) ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับบุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์และแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ไว้ว่า
1. ผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง และมีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์สูง จะเป็นคนที่มีหิริโอตตัปปะ มีความรับผิดชอบ รู้จักใช้ปัญญา ชอบทำงานเป็นกลุ่ม และไม่เป็นคนมีอารมณ์ตึงเครียด
2. เป็นผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงแต่มีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ต่ำ มักได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีบุคลิกภาพในทางสังคมดี มีจิตใจมั่นคง จึงเหมาะที่จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างาน แต่เพื่อนวัยเดียวกันจะมีความรู้สึกว่าคนประเภทนี้จะเข้าใจผู้อื่นน้อย
3. ผู้ที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ต่ำ แต่มีแรงจูงใฝ่สัมพันธ์สูง จะเป็นคนที่มีความสัมพันธ์กับคนในกลุ่มได้เป็นอย่างดี สามารถปรับตัวได้ดี รู้จักตนเอง และชอบเลียนแบบผู้อื่น รวมถึงการเป็นคนของพึ่งผู้อื่นเสมอ

website templates.